
PO in Cinema : Forrest Gump
★ วันนี้ SSPO Thailand รายการ PO in Cinema จะชวนทุกคนมาพูดถึงภาพยนตร์แนว Comedy – Drama อย่าง Forrest Gump ที่ถูกฉายครั้งแรกในปี 1994 คิดว่าหลายท่านน่าจะเคยดูหรือเห็นผ่านตากันมาบ้าง แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาชวนดูหนังหรือรีวิวให้ดาวอะไร แต่จะพูดถึงฉากเล็กๆ ที่สอดแทรกความกายอุปกรณ์เอาไว้
.

.
★ ฉากที่ว่านั้นเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของหนัง เป็นช่วงที่เด็กชายฟอเรซและแม่ของเขาไปพบคุณหมอในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยในฉากนั้นคุณหมอกำลังใส่อุปกรณ์หน้าตาประหลาดไว้ที่ขาทั้งสองข้างของฟอเรซ อุปกรณ์ที่ว่านั้นคือ “อุปกรณ์เสริมดามข้อเข่าและข้อเท้าชนิดเหล็ก – Conventional Knee Ankle Foot Orthosis (KAFO)” KAFO ที่ถูกใช้ในทางการแพทย์มายาวนาน ประกอบขึ้นจากโลหะและหนังเป็นวัสดุหลัก โดยส่วนมากหน้าที่ของอุปกรณ์ชนิดนี้ถูกใช้เพื่อช่วยพยุงหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและข้อเท้า โดยส่วนมาก KAFO ถูกใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโครงสร้างขาผิดรูป (Structural Deformities) และกลุ่มผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Conditions) เช่น โรคอัมพฤกษ์ อาการไข้สันหลังบาดเจ็บ หรือ โปลิโอ ย้อนไปในช่วงปี 1950 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโปลิโอ ทำให้ เริ่มมีการผลิตKAFOและถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในช่วงปี 1970 ได้มีการเริ่มใช้วัสดุพลาสติกเข้ามาเป็นส่วนประกอบ (Thermoplastic KAFO) และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวัสดุและส่วนประกอบให้ดียิ่งขึ้นจนถึงปัจุบัน
.

.
★ อีกฉากที่มีความเชื่อมโยงกับวงการกายอุปกรณ์คือฉากหลังการสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม หัวหน้าทหารของฟอเรซ หรือที่เรารู้จักเขากันว่า หมวดแดน ได้สูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่ระดับต้นขาลงไป (Bilateral Transfemoral Amputation) จากระเบิดในสงคราม ทำให้หลังจากนั้นชีวิตเขาต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์เป็นหลัก แต่หลังจากที่เรื่องราวของทุกตัวละครคลี่คลายลง ในช่วงท้ายของหนังจะมีฉากเล็กๆ ของหมวดแดนที่สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งด้วยการใช้ “ขาเทียม” โดยหนังต้องการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและการก้าวไปข้างหน้าของตัวละครนี้นั้นเอง
.

.
★ สงครามคือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กายอุปกรณ์เทียมถูกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในเรื่องของรูปแบบ วัสดุที่นำมาใช้รวมถึงการเกิดขึ้นขององค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง จากหนังสือ Amputations and Prosthetics ได้มีการกล่าวถึงวิวัฒนาการของขาเทียม ในช่วงสงครามกลางเมือง (American Civil War) ตั้งแต่ปี 1861 – 1865 ช่วงสงครามโลกทั้งครั้งที่ 1 และ 2 มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการรอดชีวิตหลังการผ่าตัดและเริ่มมีสวัสดิการให้แก่ทหารที่สูญเสียแขนขาไปจากสงคราม อย่างในปี 1863 เริ่มมีการนำระบบสูญญากาศมาใช้กับเบ้าขาเทียม (Suction Socket) มีการพัฒนาของข้อเข่า Polycentric Knee Unit และ Multi-axis Foot ต่อมาในปี 1949 ได้มีการก่อตั้ง American Orthotics and Prosthetics Association (AOPA) และเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบเพื่อผลิตนักกายอุปกรณ์ และหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ยังคงมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทคนิคการผ่าตัด รูปแบบเท้าเทียม รูปแบบเบ้าขาเทียม และโครงสร้างโดยรวม
.

.
★ จบไปแล้วกับ PO in Cinema: Forrest Gump หากใครมีภาพยนตร์ ซีรี่ย์ หรือสื่อต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง (ซักนิด) เกี่ยวกับกายอุปกรณ์สามารถมาบอกเล่ากันได้ทาง SSPO THAILAND
★ ขอขอบคุณข้อมูล ★
- Introduction in Orthotics, Brenda M. Coppard and Helene Lohman, Fourth Edition 2014
- Amputations and Prosthetics, Bella J. May, Second Edition 2001
- Pathology related to KAFO lecture by Tullathorn T., Assistant lecturer.
เรียบเรียงโดย นางสาวมธุริน รายรัตน์
ภาพประกอบ – เผยแพร่ นางสาววัชรี โทสาลี